พระบรมราโชวาท

พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อ ๕ สิงหาคม ๒๕๒๙ "ขอให้ผู้บังคับบัญชาและผู้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสถาบันนี้ โดยเฉพาะนักเรียนนายร้อยทุกรุ่นทุกคน สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระปรีชาญาณเห็นการณ์ไกลถึงประโยชน์ที่จะเกิดแก่บ้านเมืองจากการตั้งโรงเรียนนายร้อยขึ้นแล้ว จงตั้งใจพยายามประพฤติ ปฏิบัติตัวให้ดี ให้ตรง สังวรระวังในระเบียบ วินัยและหน้าที่ พร้อมใจพร้อมกำลังกันธำรงรักษาและพัฒนาสถานศึกษาของตนให้มั่นคงก้าวหน้า ด้วยความรู้ ด้วยสติปัญญา ความฉลาด รอบคอบและด้วยความบริสุทธิ์จริงใจเสมอเป็นนิตย์ตลอดไป อย่าให้เสื่อมถอย"     พระราโชวาท สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  พระราชทานแก่นักเรียนนายร้อย เมื่อ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๐ " ทหาร นอกจากเป็นผู้มีเกียรติ     มีวินัย   มีความกล้าหาญแล้ว    ยังเป็นผู้รักวิชาการ   รักการค้นคว้าหาความรู้  ที่สำคัญที่สุดคือ ความโอบอ้อมอารี เข้าใจเพื่อนร่วมงาน สอดส่องดูแลความเป็นอยู่ของผู้ใต้บังคับบัญชา "

วันจันทร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2551

ประวัติการจัดพิธี

แต่เดิมพิธีนี้มิได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี หากแต่จัดเป็นครั้งคราวตามที่กระทรวงกลาโหมหรือกองทัพบกจะกำหนด ปรากฏมีบันทึกว่า พิธีนี้เริ่มขึ้นครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน ในปี พ.ศ.2496 สมัยที่จอมพลแปลก พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี โดยจัดให้มีขึ้น เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมทหารบาทที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) ซึ่งตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน และเพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานธงชัยเฉลิมพล เพื่อใช้แทนธงไชยเฉลิมพลของเดิม โดยมีพลเอก กฤษณ์ สีวะรา ผู้บังคับการ ร.1 รอ.ในขณะนั้น เป็นผู้บังคับการขบวนสวนสนาม และทหารสังกัด ร.1 รอ. เป็นพลสวนสนาม

หลังจากพิธีในครั้งนั้นก็ได้ว่างเว้นมาอีกเป็นเวลาหลายปี จนถึงสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้มีการถวายพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนคร หลังจากทรงเสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศในทวีปยุโรบและสหรัฐอเมริกาโดยได้จัดพิธีสวนสนามของบรรดา ทหารบก ทหารเรือ และ ทหารอากาศ เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2504 ซึ่งรัฐบาลประกาศให้เป็น "วันพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม" แต่ทหารทั้งสามเหล่าแต่งกายด้วยเครื่องแบบของแต่ละเหล่าทัพ มิได้แต่งเครื่องแบบเต็มยศ

ต่อมาในวันที่ 5 ธันวาคม ปีเดียวกัน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีบัญชาให้ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) จัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ เนื่องในวโรกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยใช้หน่วยทหารรักษาพระองค์ในกรุงเทพมหานครเข้าร่วมพิธี จำนวนทั้งหมด 8 กองพัน จัดเป็น 2 กรมสวนสนาม มีรายละเอียดดังนี้
กรมสวนสนามที่ 1 จำนวน 4 กองพัน
กรมนักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (กรม นนร. รอ. รร.จปร.) จำนวน 1 กองพัน
กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) จำนวน 3 กองพัน
กรมสวนสนามที่ 2 จำนวน 4 กองพัน
กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) จำนวน 1 กองพัน
กองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ (ม.พัน 1 รอ.) จำนวน 1 กองพัน (ในครั้งนั้น ไม่ได้ใช้ม้าเข้าร่วมพิธี)
กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ (ป.พัน 1 รอ.) จำนวน 1 กองพัน
กองพันทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ (ช.พัน 1 รอ.) จำนวน 1 กองพัน
นับจากนั้นเป็นต้นมา พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามฯ ที่จัดขึ้นในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ นี้ ก็ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ พระลานพระราชวังดุสิต หลังจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม กำหนดให้วันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันพิธีฯ เนื่องจากต้องการให้ได้ทรงพักผ่อนพระวรกายในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งในช่วงระหว่างนั้น (4 และ 6 ธันวาคม) ทรงมีพระราชกรณียกิจหลายประการอันเกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาฯ

ต่อมา ในปี พ.ศ.2525 หน่วยทหารรักษาพระองค์ในส่วนภูมิภาคและเหล่าทัพอื่นๆ คือ กองทัพเรือ และ กองทัพอากาศ ได้เข้ามาร่วมพิธีด้วย จึงกำหนดการจัดหน่วยเข้าร่วมพิธีเพิ่มขึ้น จาก 8 กองพัน เป็น 12 กองพัน แบ่งออกเป็น 4 กรมสวนสนาม กรมละ 3 กองพัน แต่ละกองพันสวนสนามประกอบด้วยพลสวนสนาม 144 นาย (จัดแถวแบบ 12x12) หมู่แตรเดี่ยว 8 นาย หมู่เชิญธงชัยเฉลิมพล 4 นาย และผู้บังคับกองพัน 1 นาย โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 เป็นต้นมา กองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ได้จัดให้กำลังพลขี่ม้าเข้าร่วมพิธีด้วย จำนวนกองพันที่เข้าร่วมพิธีจึงเพิ่มเป็น 12+1 กองพัน โดยกองพันทหารม้าดังกล่าวจะเป็นกองพันสุดท้ายในขบวนสวนสนาม

ไม่มีความคิดเห็น: