พระบรมราโชวาท

พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อ ๕ สิงหาคม ๒๕๒๙ "ขอให้ผู้บังคับบัญชาและผู้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสถาบันนี้ โดยเฉพาะนักเรียนนายร้อยทุกรุ่นทุกคน สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระปรีชาญาณเห็นการณ์ไกลถึงประโยชน์ที่จะเกิดแก่บ้านเมืองจากการตั้งโรงเรียนนายร้อยขึ้นแล้ว จงตั้งใจพยายามประพฤติ ปฏิบัติตัวให้ดี ให้ตรง สังวรระวังในระเบียบ วินัยและหน้าที่ พร้อมใจพร้อมกำลังกันธำรงรักษาและพัฒนาสถานศึกษาของตนให้มั่นคงก้าวหน้า ด้วยความรู้ ด้วยสติปัญญา ความฉลาด รอบคอบและด้วยความบริสุทธิ์จริงใจเสมอเป็นนิตย์ตลอดไป อย่าให้เสื่อมถอย"     พระราโชวาท สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  พระราชทานแก่นักเรียนนายร้อย เมื่อ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๐ " ทหาร นอกจากเป็นผู้มีเกียรติ     มีวินัย   มีความกล้าหาญแล้ว    ยังเป็นผู้รักวิชาการ   รักการค้นคว้าหาความรู้  ที่สำคัญที่สุดคือ ความโอบอ้อมอารี เข้าใจเพื่อนร่วมงาน สอดส่องดูแลความเป็นอยู่ของผู้ใต้บังคับบัญชา "

วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2551

ชมภาพการสวนสนามของทหารรักษาพระองค์คลิก play ที่วีดีโอคลิปด้านบน

วันจันทร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2551

ทหารรักษาพระองค์



ทหารรักษาพระองค์ คือ หน่วยทหารที่มีหน้าที่ถวายความปลอดภัยและถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์โดย ใกล้ชิด เฉพาะกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ จะมีชื่อเรียกเฉพาะว่า ทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เนื่องด้วยเป็นหน่วยที่ถวายการรับใช้ต่อองค์พระมหากษัตริย์อย่างใกล้ชิดที่สุด (คำว่า "ราชวัลลภ" นี้ แปลได้ว่า ผู้เป็นที่รัก สนิท คุ้นเคยของพระราชา)

ประวัติความเป็นมา

กิจการทหารรักษาพระองค์และทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2411ในขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมบุตรในราชตระกูล และบุตรข้าราชการที่ยังเยาว์วัยมาทดลองฝึกหัดเป็นทหารตามยุทธวิธีแบบใหม่เช่นเดียวกับกรมทหารหน้า ซึ่งในชั้นแรกนั้นมี 12 คน และให้ทำหน้าที่ไล่กาที่บินมารบกวนในเวลาทรงบาตร ตลอดจนตั้งแถวรับเสด็จฯ ณ ที่นั้นทุกเวลาเช้า มหาดเล็กเหล่านี้เอง (ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “ทหารมหาดเล็กไล่กา”) คือจุดเริ่มต้นของกิจการทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ของไทย

ปลายปี พ.ศ. 2411 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกผ่านพ้นไปแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมทหารมหาดเล็กข้าหลวงเดิมจำนวน 24 คน ตั้งขึ้นเป็นหน่วยทหารอีกหน่วยหนึ่ง เรียกว่า “ทหารสองโหล ถือปืนชไนเดอร์” มีหน้าที่เฝ้าพระฉากตามเดิมแต่ในตอนเช้าและตอนเย็น ต้องมารับการฝึกทหาร

พ.ศ. 2413 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง ชูโต) จางวางมหาดเล็ก ทำการคัดเลือกบรรดาบุตรในราชตระกูล และบุตรข้าราชการที่เป็นทหารมหาดเล็ก เพื่อจัดตั้งเป็นกองทหารมหาดเล็ก
รักษาพระองค์ ทำหน้าที่รักษาพระองค์อย่างใกล้ชิด และตามเสด็จในเวลาเสด็จประพาสหัวเมือง ในชั้นนี้คัดเลือกไว้ 48 คน เมื่อรวมทหารมหาดเล็ก 2 โหลเดิมด้วยแล้ว จึงมีทหารมหาดเล็กทั้งหมด 72 คน เมื่อการปฏิบัติหน้าที่กว้างขวางขึ้น จำนวนทหารที่มีอยู่เดิมจึงมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรศักดิ์มนตรีคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นทหารเพิ่มขึ้น ในการนี้ พระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง ชูโต) ได้นำบุตรชาย คือ นายเจิม ชูโต (ต่อมาคือเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เจิม แสง – ชูโต) เข้าถวายตัวเป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ โดยสมัครเป็นตัวอย่างคนแรก (เนื่องจากสมัยนั้นคนไทยไม่นิยมเป็นทหาร) ทำให้มีจำนวนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์เพิ่มขึ้นทั้งที่เป็นผู้ใหญ่และที่เป็นเด็ก เพราะทุกคนต่างก็เห็นและรู้สึกเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล ในการที่บุตรหลานของตนได้เข้ารับราชการใกล้ชิดพระมหากษัตริย์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์เด็มยศกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินตรวจพลสวนสนามเหล่าทหารรักษาพระองค์ เนื่องในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ประจำปี พ.ศ. 2549

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหน่วยทหารดังกล่าวขึ้นเป็น กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และทรงดำรงพระยศเป็นนายพันเอก ตำแหน่งผู้บังคับการกรมด้วยพระองค์เอง ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์จนมั่นคงดีขึ้น และได้ทรงขนานนามหน่วยนี้เสียใหม่ว่า กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในปี พ.ศ. 2414 (ปัจจุบันหน่วยทหารนี้คือ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์)

หน่วยทหารรักษาพระองค์ได้มีวิวัฒนาการต่อมาตามลำดับจากต้นกำเนิดดังกล่าวมาแล้ว ต่อมาจึงมีการก่อตั้งหน่วยทหารรักษาพระองค์ที่เป็นหน่วยรบจากเหล่าต่างๆ เช่น ทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ฯลฯ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับกองพัน และหน่วยบังคับบัญชาของหน่วยนั้นในระดับกรมมักจะตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้อยู่ใกล้ชิดองค์พระมหากษัตริย์ รวมทั้งสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง แต่ก็มีบางหน่วยที่มีที่ตั้งอยู่นอกกรุงเทพมหานคร เช่น กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่ค่ายนวมินทราชินี จังหวัดชลบุรีเป็นต้น เป็นต้น





พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์


พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ จัดขึ้นครั้งแรกในรัชการปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 2496 และเริ่มจัดพิธีนี้อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ พ.ศ. 2504 เนื่องในวโรกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จนถึงปัจจุบัน

ประวัติการจัดพิธี

แต่เดิมพิธีนี้มิได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี หากแต่จัดเป็นครั้งคราวตามที่กระทรวงกลาโหมหรือกองทัพบกจะกำหนด ปรากฏมีบันทึกว่า พิธีนี้เริ่มขึ้นครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน ในปี พ.ศ.2496 สมัยที่จอมพลแปลก พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี โดยจัดให้มีขึ้น เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมทหารบาทที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) ซึ่งตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน และเพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานธงชัยเฉลิมพล เพื่อใช้แทนธงไชยเฉลิมพลของเดิม โดยมีพลเอก กฤษณ์ สีวะรา ผู้บังคับการ ร.1 รอ.ในขณะนั้น เป็นผู้บังคับการขบวนสวนสนาม และทหารสังกัด ร.1 รอ. เป็นพลสวนสนาม

หลังจากพิธีในครั้งนั้นก็ได้ว่างเว้นมาอีกเป็นเวลาหลายปี จนถึงสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้มีการถวายพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนคร หลังจากทรงเสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศในทวีปยุโรบและสหรัฐอเมริกาโดยได้จัดพิธีสวนสนามของบรรดา ทหารบก ทหารเรือ และ ทหารอากาศ เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2504 ซึ่งรัฐบาลประกาศให้เป็น "วันพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม" แต่ทหารทั้งสามเหล่าแต่งกายด้วยเครื่องแบบของแต่ละเหล่าทัพ มิได้แต่งเครื่องแบบเต็มยศ

ต่อมาในวันที่ 5 ธันวาคม ปีเดียวกัน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีบัญชาให้ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) จัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ เนื่องในวโรกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยใช้หน่วยทหารรักษาพระองค์ในกรุงเทพมหานครเข้าร่วมพิธี จำนวนทั้งหมด 8 กองพัน จัดเป็น 2 กรมสวนสนาม มีรายละเอียดดังนี้
กรมสวนสนามที่ 1 จำนวน 4 กองพัน
กรมนักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (กรม นนร. รอ. รร.จปร.) จำนวน 1 กองพัน
กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) จำนวน 3 กองพัน
กรมสวนสนามที่ 2 จำนวน 4 กองพัน
กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) จำนวน 1 กองพัน
กองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ (ม.พัน 1 รอ.) จำนวน 1 กองพัน (ในครั้งนั้น ไม่ได้ใช้ม้าเข้าร่วมพิธี)
กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ (ป.พัน 1 รอ.) จำนวน 1 กองพัน
กองพันทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ (ช.พัน 1 รอ.) จำนวน 1 กองพัน
นับจากนั้นเป็นต้นมา พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามฯ ที่จัดขึ้นในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ นี้ ก็ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ พระลานพระราชวังดุสิต หลังจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม กำหนดให้วันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันพิธีฯ เนื่องจากต้องการให้ได้ทรงพักผ่อนพระวรกายในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งในช่วงระหว่างนั้น (4 และ 6 ธันวาคม) ทรงมีพระราชกรณียกิจหลายประการอันเกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาฯ

ต่อมา ในปี พ.ศ.2525 หน่วยทหารรักษาพระองค์ในส่วนภูมิภาคและเหล่าทัพอื่นๆ คือ กองทัพเรือ และ กองทัพอากาศ ได้เข้ามาร่วมพิธีด้วย จึงกำหนดการจัดหน่วยเข้าร่วมพิธีเพิ่มขึ้น จาก 8 กองพัน เป็น 12 กองพัน แบ่งออกเป็น 4 กรมสวนสนาม กรมละ 3 กองพัน แต่ละกองพันสวนสนามประกอบด้วยพลสวนสนาม 144 นาย (จัดแถวแบบ 12x12) หมู่แตรเดี่ยว 8 นาย หมู่เชิญธงชัยเฉลิมพล 4 นาย และผู้บังคับกองพัน 1 นาย โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 เป็นต้นมา กองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ได้จัดให้กำลังพลขี่ม้าเข้าร่วมพิธีด้วย จำนวนกองพันที่เข้าร่วมพิธีจึงเพิ่มเป็น 12+1 กองพัน โดยกองพันทหารม้าดังกล่าวจะเป็นกองพันสุดท้ายในขบวนสวนสนาม

ลำดับขั้นตอนพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนฯ







1. ทหารรักษาพระองค์ทั้ง 12 กองพันพร้อมกันที่จุดรวมพลบริเวณถนนราชดำเนินนอก 2. ทหารปืนใหญ่ยิงพลุสัญญาณ ทหารทั้ง 12 กองพันเริ่มเดินสวนสนามมาตามแนวถนนราชดำเนินมาจนถึงลานพระราชวังดุสิตแล้วจัดแถวรอรับการเสด็จพระราชดำเนิน 3. พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินมาถึงพลับพลาที่ประทับ
4. เมื่อใกล้ถึงเวลาเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้บังคับกองผสมสั่งทหารติดดาบ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ออกจากพลับพลาที่ประทับไปยังหัวแถวกองผสมเพื่อรอรับเสด็จ
5. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินออกทางประตูทวยเทพสโมสรด้วยรถยนต์พระที่นั่ง ผู้บังคับกองผสมสั่งวันทยาวุธถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี แตรเดี่ยวเป่าสัญญาณถวายคำนับ 3 จบ ผู้บังคับกองผสมออกวิ่งไปยังหัวแถวทหารเพื่อไปถวายรายงาน
6. เมื่อสิ้นสุดการบรรเลงสรรเสริญพระบารมีผู้บังคับกองผสมกราบทูลถวายรายงานและอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจพลสวนสนาม
7. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจพลสวนสนามโดยมีผู้บังคับกองผสมและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ตามเสด็จ ดุริยางค์บรรเลงเพลงมาร์ชธงไชยเฉลิมพลเสร็จแล้วเสด็จพระราชดำเนินขึ้นพลับพลาที่ประทับ
8. ผู้บังคับกองผสมสั่งปลดดาบ เจ้ากรมสารบัญทหารบกทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนฯ
9. พลแตรเดี่ยวเป่าสัญญาณเตรียมตัว หมู่เชิญธงชัยเฉลิมพลออกมาหน้าแถวเพื่อเตรียมเชิญธงฯ ไปยังหน้าพลับพลา
10. พลแตรเดี่ยวเป่าสัญญาณหน้าเดิน หมู่เชิญธงฯ อัญเชิญธงฯ โดยการเดินเปลี่ยนสูงไปยังหน้าพลับพลา ดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาชัยจนทุกหมู่มาพร้อมกันที่หน้าพลับพลา
11. นายทหารชั้นผู้ใหญ่ออกมาตั้งแถวหน้าพลับพลาที่ประทับผู้บัญชาการทหารสูงสุดทูลเกล้าฯ ถวายพานดอกไม้ ธูปแพ เทียนแพ
12. ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกล่าวคำถวายพระพร และนำทหารกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตน จบแล้วดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีทหารทุกนายถวายความเคารพและขับร้องถวาย ทหารปืนใหญ่ยิงสลุตเฉลิมพระเกียรติ 21 นัด ตามจังหวะเพลง ในสนามเสือป่ามีการปล่อยลูกโป่งสีและแพรถวายพระพร
13. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบทหาร จบแล้วดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารทุกนายถวายความเคารพ
14. หมู่เชิญธงฯ ทุกหมู่กลับเข้าประจำแถวของตน ดุริยางค์บรรเลงเพลงมาร์ชธงไชยเฉลิมพล
15. พลแตรเดี่ยวให้สัญญาณเตรียมตัว ผู้บังคับกองผสมสั่งทหารติดดาบ และสั่งแถวทหารแปรขบวนเตรียมการสวนสนาม
16. พลแตรเดี่ยวให้สัญญาณหน้าเดิน กองผสมทำการสวนสนามผ่านหน้าพลับพลาที่ประทับจนครบทุกกอง ดุริยางค์บรรเลงเพลงมาร์ชราชวัลลภ แต่ในขณะที่กองพันที่ 13 คือ กองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์ ซึ่งได้นำม้ามาเข้าร่วมสวนสนามด้วยนั้น ดุริยางค์จะเปลี่ยนไปบรรเลงเพลง King Cotton แทน เพื่อให้สอดคล้องกับจังหวะการเดินของม้า
17. ดุริยางค์ทหารเคลื่อนขบวนมายังหน้าพลับพลาที่ประทับ เพื่อขับร้องเพลงถวายพระพร ซึ่งประพันธ์โดยกองดุริยางค์ทหารบก จบแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินกลับ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี แตรเดี่ยวเป่าสัญญาณถวายความเคารพ 3 จบ ผู้บังคับกองผสมกล่าวนำทหารถวายพระพร "ทรงพระเจริญ" 3 ครั้ง
18. แตรเดี่ยวให้สัญญาณเลิกแถว ผู้บังคับกองผสมสั่งเลิกแถว ดุริยางค์บรรเลงเพลงเดิน (เพลงสยามานุสติ)


คำถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์










ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้า (ยศ-ชื่อ-นามสกุล) ขอถวายคำสัตย์ปฏิญาณ ต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า
ข้าพระพุทธเจ้า จะยอมตายเพื่อรักษาไว้ ซึ่งพระบรมเดชานุภาพ แห่งพระมหากษัตริย์เจ้า
ข้าพระพุทธเจ้า จะจงรักภักดี และถวายความปลอดภัย ต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จนชีวิตหาไม่
ข้าพระพุทธเจ้า จะเชิดชูและรักษาไว้ ซึ่งเกียรติยศ เกียรติศักดิ์ ของทหารรักษาพระองค์ทั้งจะปฏิบัติตน ให้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททุกประการ
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

การเปลี่ยนแปลง

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 เป็นต้นมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เปลี่ยนแปลงวันพิธีจากวันที่ 3 เป็นวันที่ 2 ธันวาคม จนถึงปัจจุบัน ทุกๆ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งเปิดประทุน 1 ออกทางประตูทวยเทพสโมสร หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อทรงเป็นองค์ประธานในพิธี ในขณะทรงตรวจพลสวนสนามนั้น จะมีรถยนต์อัญเชิญธงชัยราชกระบี่ยุทธ และธงชัยพระครุฑพ่าห์ นำหน้าขบวนเสด็จพระราชดำเนินด้วย นอกจากนี้ ยังได้อัญเชิญธงไชยเฉลิมพลประจำหน่วยต่างๆ เข้าร่วมในพิธีด้วย ในปี พ.ศ. 2549-2550 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เสด็จพระราชดำเนินกลับจากพิธีนี้ โดยรถยนต์พระที่นั่ง ทะเบียน ร.ย.ล.960 ด้วยเส้นทางจากพระลานพระราชวังดุสิต ไปทางถนนศรีอยุธยา เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระรามที่ 5 กลับเข้าสู่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานทางด้านประตูพระวรุณอยู่เจน โดยตลอดข้างทางนั้นมีพสกนิกรมารอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ในปีเดียวกัน ยังมีการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนบางประการในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ดังนี้
1. ขั้นตอนการอัญเชิญธงชัยเฉลิมพล ได้ปรับให้อัญเซิญธงชัยเฉลิมพลมาตั้งแถวรอที่หน้าพลับพลาที่ประทับก่อนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินมาถึง จากเดิมเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินตรวจพลสวนสนามแล้ว จึงจะมีการเชิญธงชัยเฉลิมพลในลำดับถัดไป ทั้งนี้ เนื่องจากว่าได้มีการเชิญธงชัยเฉลิมพลของหน่วยรักษาพระองค์ต่างๆ รวมทั้งสิ้น 36 หน่วย (รวมหน่วยสวนสนาม) มาร่วมพีธีถวายสัตย์ฯ ร่วมกับหน่วยทหารรักษาพระองค์ทั้ง 13 หน่วยที่จะทำการสวนสนามด้วย
2. การขับร้องเพลงถวายพระพรโดยวงดุริยางค์ทหารบกซึ่งปกติทำกันเป็นประจำทุกปี ได้งดไปในปีนี้